วันเสาร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2558

มาตรฐานเครือข่ายแลนไร้สาย (Wireless LAN Standards)


          มาตรฐาน IEEE 802.11 ถือเป็นมาตรฐานของเครือข่ายไร้สายที่กระจายสเปกตรัม (Spread-Spectrum) ด้วยคลื่นวิทยุในการสื่อสารที่หลายย่านความถี่ โดยรากฐานของเทคโนโลยี 802.11 จะใช้คลื่นวิทยุในการแพร่สัญญาณบนย่านความถี่ 2.5 GHz ยกเว้นเพียงแต่มาตรฐาน 802.11a เท่านั้น ที่ใช้ย่านความถี่ที่ 5 GHz

          เทคโนโลยีตามมาตรฐาน 802.11 นั้น สามารถบรอดคลาสต์เพื่อกระจายสเปกตรัมอยู่ 2 วิธีด้วยกันคือ วิธี DSSS (Direct-Sequence Spread-Spectrum) และวิธี FHSS (Frequency-Hopping Spread-Spectrum) โดยวิธี DSSS นั้นจะส่งข้อมูลออกไปบนความถี่ที่แตกต่างกันในเวลาเดียวกัน (มอดูเลตทางขนาด) ในขณะที่วิธี FHSS จะส่งข้อมูลบนความถี่เดียวในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งแต่ละวิธีต่างก็มีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน โดยอุปกรณ์ที่ส่งข้อมูลทั้ง 2 วิธีนี้ นำมาใช้ร่วมกันไม่ได้ อย่างไรก็ตาม DSSS นั้นจะใช้แบนด์วิดธ์มากกว่าแบบ FHSS (DSSS ใช้แบนด์วิดธ์ที่ 22 MHz ส่วน FHSS ใช้เพียง 1 MHz) จึงทำให้ DSSS มีอัตราการรับส่งข้อมูลบนทรูพุตที่ดีกว่า แต่ DSSS ก็ถูกแทรกแซงจากสัญญาณรบกวนได้ง่ายกว่าแบบ FHSS เช่นกัน ปัจจุบันเครือข่ายไร้สายชนิด HomeRF ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีเดียว ที่ยังคงใช้วิธี FHSS ในขณะที่เครือข่ายไร้สายตามมาตรฐานของ IEEE 802.11 ทั้งหมดจะใช้วิธี DSSS

          สำหรับ WLAN ตามมาตรฐาน 802.11 ได้ขยายออกมาเป็นกลุ่มย่อยตามมาตรฐานต่างๆ ซึ่งเป็นไปตามตารางดังรูป


802.11

          เป็นมาตรฐานดั้งเดิมที่ในปัจจุบันค่อนข้างหายากแล้ว อุปกรณ์ในเครือข่ายไร้สายที่ใช้งานบนมาตรฐาน 802.11 นั้นจะมีความเร็วสูงสุดเพียง 2 Mbps และจำกัดระยะทางประมาณ 150 ฟุต อย่างไรก็ตาม 802.11 ก็ได้ใช้ย่านความถี่ 2.4 GHz ที่มาตรฐานปัจจุบันก็ยังคงใช้ย่านความถี่นี้อยู่ รวมถึงระบบความปลอดภัยที่ใช้ก็จะมีทั้งการเข้ารหัสลับด้วยวิธี WEP และ WPA

802.11b

          มาตรฐานนี้เปิดตัวเพื่อใช้งานเมื่อราวปี ค.ศ.1999 โดยจัดเป็นมาตรฐานที่ได้รับความนิยมสูง และยอมรับในทั่วโลก ดังนั้นจึงมีการใช้งานอย่างแพร่หลาย มาตรฐาน 802.11b ถูกรับรองโดย Wi-Fi โดยมีความเร็วในการรับส่งข้อมูลที่ 11 Mbps ที่ย่านความถี่ 2.4 GHz ข้อดีของมาตรฐานนี้ก็คือ คลื่นความถี่ดังกล่าว จะมีอุปกรณ์หลายชนิดด้วยกันที่ใช้งานอยู่ โดยเฉพาะโทรศัพท์ไร้สาย รวมถึงระยะทางในการรับส่งข้อมูลครอบคลุมค่อนข้างไกล ทำให้ไม่สิ้นเปลืองอุปกรณ์แอกเซสพอยต์ที่ใช้เป็นจุดรับส่งสัญญาณ

802.11a

          เปิดตัวเพื่อใช้งานเมื่อราวปี ค.ศ.2001 เป็นมาตรฐานที่ใช้ย่านความถี่ 5 GHz ข้อดีของมาตรฐานนี้ก็คือ มีความเร็วสูงถึง 54 Mbps ส่วนข้อเสียก็คือปัญหาเรื่องข้อกฏหมายคลื่นความถี่ระดับสูงในระดับ 5 GHz ซึ่งในบางประเทศอนุญาตให้ใช้เฉพาะคลื่นความถี่ต่ำเท่านั้น เช่น ประเทศไทยไม่อนุญาตให้นำเข้าและนำมาใช้งาน เนื่องจากได้มีการจัดสรรคลื่นความถี่ย่านนี้เพื่อใช้กับกิจการอื่นมาก่อนแล้ว อย่างไรก็ตาม เครือข่ายไร้สายตามมาตรฐาน 802.11a นั้นจะไม่สามารถนำมาใช้งานร่วมกันกับเครือข่ายไร้สายตามมาตรฐาน 802.11b และ 802.11g ได้

802.11g

          เปิดตัวเพื่อใช้งานเมื่อราวปี ค.ศ.2003 เป็นเทคโนโลยีที่ได้ปรับปรุงความเร็วให้มีการส่งข้อมูลสูงถึง 54 Mbps และเป็นเทคโนโลยีที่สามารถนำมาใช้งานร่วมกันกับมาตรฐาน 802.11b ได้ เนื่องจากใช้คลื่นความถี่ที่ 2.4 GHz เหมือนกัน ดังนั้นจึงเป็นมาตรฐานที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน

802.11n

          สำหรับมาตรฐาน 802.11n นั้นได้พัฒนาความเร็วด้วยการเพิ่มทรูพุตของมาตรฐาน 802.11 ให้มีความเร็วสูงขึ้นถึง 100 Mbps ถึงแม้ว่ามาตรฐานนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ในเวลานี้ แต่การรับส่งข้อมูลจะอยู่ในย่านความถี่ 5 GHz ดังนั้นจึงมีความเข้ากันได้กับมาตรฐาน 802.11a

มาตรฐาน IEEE 802.11a ,b ,g และ n ที่ถูกรองรับโดย Wi-Fi


มาตรฐานเครือข่ายไร้สายของ IEEE 802.11

          นอกจากมาตรฐาน WLAN ใน IEEE 802.11 แล้ว ภายในโครงการ IEEE 802.11 ก็ยังมีกลุ่มงานที่รับผิดชอบข้อกำหนดและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับ WLAN ซึ่งเป็นไปตามตารางดังรูป


กลุ่มงานในมาตรฐาน IEEE 802.11

อ้างอิงจาก : 
โอภาส เอี่ยมสิริวงศ์. 2552. เครือข่ายคอมพิวเตอร์และการสื่อสาร (ฉบับปรับปรุงเพิ่มเติม). กรุงเทพฯ : ซีเอ็ดยูเคชั่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น